คำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) เป็นคำศัพท์ที่ถูกใช้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังมีการระบาดของโควิด-19 และคงจะคุ้นหูมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการนำคำนี้มาใช้ในทุกวงการกันอย่างกว้างขวาง แท้จริงแล้วคำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) คืออะไรและใช้อย่างไร วันนี้ Triple-M มีคำตอบ!

อะไรบ้างจะกลายเป็น “นิว นอร์มอล” (New Normal)

สิ่งที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นเทรนด์ในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าให้เกิดเร็วขึ้น โดยสิ่งที่คาดกันว่า จะกลายเป็น “นิว นอร์มอล” (New Normal) หลังโควิด-19 ได้แก่

1. พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต จะมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์หรือการทำงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การทำธุรกกรรมทางการเงิน หรือการดูละคร ดูหนังผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นชัดมากขึ้นแล้วในขณะนี้

2. การเว้นระยะห่างทางสังคม จะกลายเป็นความปกติใหม่ของสังคมเช่นกัน ผู้คนจะลดการปฏิสัมพันธ์ ไปในสถานที่สาธารณะน้อยลง เน้นการทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น ลดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ

3. เทรนด์เรื่องการใส่ใจสุขภาพ ผู้คนจะให้ความสำคัญกับสุขภาพต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านเป็นเรื่องปกติ การใช้เจลล้างมือ และสังเกตตัวเองเมื่อไม่สบาย

4. การจับจ่ายใช้สอย การตัดสินใจลงทุน จะเป็นไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพราะยังไม่แน่ใจกับเศรษฐกิจ ลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย และหันมาซื้อประกันสุขภาพกันมากขึ้น

ที่มาของคำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal)

จากข้อมูลพบว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยบิลล์ กรอส (Bill Gross) ผู้ก่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ชาวอเมริกัน โดยตอนนั้นเขาใช้อธิบายถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 2007-2009

บิลล์ กรอส (Bill Gross) ผู้เรื่มต้นใช้คำว่า “นิวนอร์มอล” (New Normal)

สาเหตุที่ต้องใช้คำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) เพราะเดิมทีวิกฤติเศรษฐกิจจะมีรูปแบบค่อนข้างตายตัวและเป็นวงจรเดิม คือเมื่อเศรษฐกิจเติบโตไปได้ช่วงระยะหนึ่ง จะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจ และหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่นานเศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัว แล้วก็กลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จนเรียกได้ว่าเป็น ‘เรื่องปกติ’ (Normal) ก็ได้

แต่หลังจากการเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หลายคนมองว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ดีเหมือนเดิม ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ทั้งที่หลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมาก การยืมเงินจากอนาคต เพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในวันนี้ จะส่งผลให้เติบโตได้ลดลงในอนาคต ดังนั้นคำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) จึงถูกนำมาใช้เพื่อพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลงและคาดว่าจะไม่กลับมาเติบโตในระดับเดิมได้อีกต่อไป


แม้คำนี้จะเกิดจากชาวอเมริกัน แต่ถ้าจะให้เห็นภาพของคำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) ได้ชัดเจนที่สุด อาจต้องพูดถึง การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่ปี 2002 จนถึง 2007 ก่อนเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตรามากกว่า 10% มาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2008 เศรษฐกิจของจีนเริ่มมีตัวเลขการเติบโตลดลงเรื่อยๆ และหลังจากปี 2014 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนนั้นยังไม่เคยโตสูงกว่า 7% อีกเลย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมายอมรับว่าการเติบโต 7% แทนที่จะเป็น 10% เหมือนในอดีต ไม่ใช่การถดถอยทางเศรษฐกิจ เพียงแต่เป็น “นิว นอร์มอล” (New Normal) ของจีนในอนาคต ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมากแล้ว จะให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับไปโตเร็วแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้


ในตอนนี้ที่โลกเกิดวิกฤติโควิด-19 คำว่า  “นิว นอร์มอล” (New Normal) ถูกหยิบมาใช้อีกครั้งแต่ขยายวงออกไปในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ การศึกษา ชีวิตประจำวัน หรือ ภาคสังคม อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องเกิดใหม่หลังโควิด-19 วิถีชีวิตแบบใหม่ก็จะถูกเรียกว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal)

ยกตัวอย่างเช่น การปรับตัวของสายการบิน ที่ต้องใช้การเว้นระยะห่างทางสังคม การขายบัตรโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่ง การเช็คอิน การขึ้นและลงเครื่องบินต้องเว้นระยะห่าง จะไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน ลูกเรือจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และเฟสชีลด์  ส่วนผู้โดยสารต้องรับผิดชอบสวมใส่หน้ากากอนามัยมาเองและใส่ตลอดเวลาการเดินทาง รวมถึงไม่สามารถนำอาหารของตนเองมารับประทานในเครื่องบินได้

หรือที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค จากในอดีตคนนิยมเดินห้าง แต่ปัจจุบันคนเริ่มหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระยะยาว ทำให้ในอนาคตศูนย์การค้าอาจจะต้องปรับตัวให้เหมาะกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีหน้าร้านไว้เป็นโชว์รูม แต่ไปเน้นทำการตลาดในออนไลน์แทน

“นิว นอร์มอล” (New Normal) ชั่วคราว หรือ “นิว นอร์มอล” (New Normal) ที่จะกลายเป็นเรื่องปกติในโลกใหม่ ?

ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็น “นิว นอร์มอล” (New Normal) ที่เกิดขึ้นชั่วคราว และอะไรคือ “นิว นอร์มอล” (New Normal) ที่เป็นโลกหลังโควิด-19 และกลายเป็นวิวัฒนาการใหม่ของสังคมมนุษย์ และระบบโลกใหม่ เช่นพฤติกรรมของการทำกิจกรรมต่างๆผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เช่น การซื้อของออนไลน์ การประชุมออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ว่าอาจกลายเป็น “นิว นอร์มอล” (New Normal) ที่แม้เดิมจะเกิดขึ้นอยู่แล้วแต่ก็มีโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่ง ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปเร็วขึ้น

แต่หลายสิ่งที่เป็นสิ่งผิดปกติชั่วคราวเช่น การบอกว่า ผู้คนไม่อยากออกเดินทางแล้ว ธุรกิจโรงแรมอาจจะไม่สามารถไปต่อได้อีก ซึ่งอันนี้ฟังดูแล้วก็เหมือนไม่ใช่ “นิว นอร์มอล” (New Normal) ที่จะเกิดขึ้นตลอดไปแต่เป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะถ้าหากมีวัคซีนเข้ามา คนก็จะกลับมาท่องเที่ยวกันตามปกติ ในอนาคตธุรกิจเหล่านี้ก็จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

หรือ ‘การเรียนออนไลน์’ ที่คนพูดว่าหลังจากเกิดโควิด-19 การเรียนออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น ในอนาคตคนไม่ต้องไปโรงเรียนไม่ต้องไปมหาวิทยาลัยแล้ว การเรียนออนไลน์จะกลายเป็น “นิว นอร์มอล” (New Normal)  ซึ่งข้อนี้ก็อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมนั้นๆด้วย ตัวอย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกามีการเรียนการสอนออนไลน์มากเป็นปกติ การเกิดโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ตรงกันข้ามคนเริ่มคิดถึงการเรียนการสอนแบบปกติที่ครูจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนและแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ทันทีมากกว่าด้วย ขณะที่ในญี่ปุ่นก่อนหน้าการเกิดโควิด-19 การเรียนออนไลน์ไม่เป็นที่นิยมเลย เมื่อเกิดโควิด-19 จึงเป็นสถานการณ์บังคับที่ให้ทุกสถานศึกษาต้องปรับตัว และมีแนวโน้มว่าหลังจากโควิด-19 ญี่ปุ่นก็จะมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น แต่การสอนแบบเดิมก็ยังคงมีอยู่

การใส่หน้ากากอนามัยที่เราพูดกันว่าเป็น “นิว นอร์มอล” (New Normal) สิ่งนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตลอดไป แต่จะเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อวันหนึ่งมนุษย์สามารถผลิตวัคซีนได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีนับจากนี้ โควิด-19 ก็จะกลายเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ (Endemic) ไม่ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ และเมื่อถึงตอนนั้นธรรมชาติเดิมของมนุษย์ที่ชอบการร่วมกลุ่มก็จะกลับมาอีกรั้ง การเว้นระยะห่างทางสังคมก็จะเริ่มหายไป เพราะสุดท้ายเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม

Credit : https://workpointnews.com/